Accessibility Tools

ศาลจังหวัดตะกั่วป่า

Takua Pa Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดตะกั่วป่า

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage
image

 

ข้อมูลทั่วไป

ประวัติศาลจังหวัดตะกั่วป่า

ศาลจังหวัดตะกั่วป่าเริ่มจัดตั้งเมื่อเวลาใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เข้าใจว่าข้าหลวงพิเศษจังหวัดตั้งศาลมณฑลภูเก็ต ตามประกาศ ปี ร.ศ. 117 น่าจะได้รายงานกราบบังคมทูลโดยตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้น ให้ทรงจัดตั้งขึ้น ครั้งแรกเรียกว่า “ศาลเมืองตะกั่วป่า” โดยปรากฏหลักฐานในปี ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ว่า ที่ตั้งศาลอยู่ที่เมืองเก่า ตำบลหน้าวัดใหม่ อำเภอตลาดใหญ่หรือตลาดใต้ (ตลาดเก่าในปัจจุบัน) มีพลับพลาที่รับเสด็จเป็นที่ทำการศาลฯ ตัวอาคารเป็นไม้หลังคามุงจาก บัลลังก์ทำด้วยเครื่องไม้ไผ่ (2 ปีต่อมา บัลลังก์ได้จัดทำขึ้นใหม่เป็นไม้จริง) ซึ่งตั้งอยู่ตรงที่หลังวัดใหม่กำแพง (วัดเสนานุชรังสรรค์) เยื้องหลังสวนคุณยายอินทร์ (ต่อมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสถาพรพิทยา) การเดินทางมีถนนสายที่ตั้งต้นจากถนนวัดลุ่ม (วัดคีรีเขต) ผ่านริมบ้านปลัดขาวหรือขุนเกษม (ต่อมาเป็นที่ตั้งของบ้านนายศรีพรม) ทะลุออกถนนตลาดตะกั่วป่า-ย่านยาว ตรงปั้มน้ำมัน  หน้าสวนสมบัติ[1]  จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ร.ศ. 124 ศาลได้เปลี่ยนแปลงได้ย้ายสถานที่ตั้งและอาคาร ที่ทำการเป็นลำดับดังนี้

พ.ศ. 2449  (ร.ศ. 124) ศาลเมืองตะกั่วป่า ย้ายไปเปิดที่ทำการใหม่ โดยตั้งอยู่ที่     เชิงเขาพระพิชัย ตำบลเมืองใหม่ อำเภอเมือง (กิ่งอำเภอเกาะคอเขาเดิม)  เนื่องจากศาลากลางเมืองตะกั่วป่าได้ย้ายไปตั้งอยู่ ร.ศ. 130  และผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าได้ปลูกสร้างที่ทำการศาลชั่วคราวให้ มีสภาพพื้นเป็นพื้นดิน ฝากระดาน หลังคามุงจาก

พ.ศ. 2455 (ร.ศ.๑๓๐) ศาลเมืองตะกั่วป่าได้ย้ายมาพร้อมศาลากลางเมืองตะกั่วป่าซึ่งตั้งเมืองใหม่มาตั้งอยู่ที่ ตำบลย่านยาว  แขวงเมืองตะกั่วป่า

พ.ศ. 2456 (ร.ศ. 132) ศาลเมืองตะกั่วป่า ย้ายไปเปิดที่ทำการใหม่ โดยตั้งอยู่ที่ตำบลย่านยาว อำเภอตลาดใหญ่ (อำเภอตะกั่วป่าในปัจจุบัน)  เนื่องจากผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าพิจารณาเห็นว่า สถานที่ตั้งเมืองที่ตำบลเมืองใหม่นั้น ทำเลเป็นเกาะ ไม่เหมาะ จึงดำริย้ายที่ตั้งเมืองใหม่  และได้ปลูกสร้างที่ทำการศาลชั่วคราวให้ มีสภาพพื้นเป็นพื้นปูนซีเมนต์ บัลลังก์อยู่บนพื้น ฝาสานด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก จนในปี พ.ศ. 2457 ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าประสงค์ให้พ่อค้าและราษฎรปลูกเรือนและโรงแถวตามริมถนน ทำให้ที่ทำการศาลชั่วคราวต้องอยู่หลังโรงแถว เดินเข้าออกไม่สะดวก อาคารเริ่มคับแคบผู้พิพากษาศาลเมืองตะกั่วป่าในขณะนั้นได้รายงานสถานการณ์ไปให้อธิบดีผู้พิพากษา ศาลมณฑลภูเก็ตเพื่อแจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมขอเงินมาปลูกสร้างในสถานที่ใหม่ใกล้กับศาลาว่าการเมืองตะกั่วป่า (ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าในปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๔๕๙ ศาลเมืองตะกั่วป่า ถูกเรียกเป็น “ศาลจังหวัดตะกั่วป่า” เป็นครั้งแรก สันนิษฐานว่า คงให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรือง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เรียกว่า “จังหวัด” ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 51) โดยอาคารที่ทำการศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ในสถานที่ใกล้กับศาลาว่าการเมืองตะกั่วป่า (ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่าในปัจจุบัน)  เนื่องจากที่ทำการศาลชั่วคราวต้องอยู่หลังโรงแถว (ซึ่งในปี พ.ศ. 2457 ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่ามีความประสงค์ให้พ่อค้าและราษฎรปลูกเรือนและโรงแถวตามริมถนน) ทำให้เดินเข้าออกไม่สะดวก ประกอบกับอาคารศาลเล็กและคับแคบ ผู้พิพากษาศาลเมืองตะกั่วป่าในขณะนั้นจึงรายงานสถานการณ์ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลภูเก็ตเพื่อแจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรม  และกระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรเงินให้ 7,000 บาท  ก่อสร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกเสาสูงจากพื้นดิน ใต้ถุนโปร่ง พื้นดินลาดปูนซีเมนต์ พื้นอาคารปูไม้กระดาน ฝากั้นไม้กระดาน มีเพดานพร้อม แต่หลังคามุงจาก  ซึ่งปรากฏว่าต้องซ่อมแซมอยู่เสมอ ต้องใช้จากตับเป็นจำนวนพัน เมื่อรวมทั้งหวาย ตะปู ค่าแรงงานและสิ่งอื่น ๆ เงินค่าใช้สอยสำหรับศาลมีไม่พอ ทั้งสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อยู่เสมอ ช่างตรวจดูสภาพแล้ว ลงความเห็นว่าเครื่องบนมีความแข็งแรงทนทาน จึงได้เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้องซีเมนต์

                   พ.ศ. 2474  ศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้ยุบรวมเข้ากับศาลจังหวัดพังงา อันเนื่องจาก พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประกาศเรื่องยุบรวมศาล โดยโอนคดีที่ค้างมาอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประกาศลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2474 ทั้งนี้ มีการให้ยุบเลิกจังหวัดตะกั่วป่ารวมท้องที่เข้าไว้ในปกครองของจังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475  เป็นต้นมา ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 (ประกาศเรื่องยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 หน้า 578) ดังนั้น อาคารที่ทำการศาลจังหวัดตะกั่วป่าจึงได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของอำเภอตะกั่วป่าในกาลเวลาต่อมา

                   พ.ศ. 2478  ศาลแขวงตะกั่วป่า ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงสำหรับหัวเมือง พ.ศ. 2478  มีเขตอำนาจตลอดเขตอำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง และอำเภอเกาะคอเขา (ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในเขตอำนาจของศาลเมืองตะกั่วป่าและศาลจังหวัดตะกั่วป่าเดิม) ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 1489 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478  สถานที่ทำการคงใช้สถานที่เดิมของศาลจังหวัดตะกั่วป่า 

ซึ่งปลูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459  (สร้างที่พักพยานและห้องขังผู้ต้องหา/จำเลยใหม่) โดยเปิดทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 เป็นต้นมา ปรากฏตามกฎกระทรวงยุติธรรมออกตามความในพระราชบัญญัติจังตั้งศาลแขวงสำหรับหัวเมือง พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2)  ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2479  ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 76 พ.ศ. 2480 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงแม่สะเรียง  แขวงแม่สอด แขวงตะกั่วป่า แขวงหลังสวน เป็นศาลจังหวัด พ.ศ.2479 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในอำเภอตะกั่วป่า และใกล้เคียงให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไกลไปถึงตัวจังหวัด

                   พ.ศ. 2481  ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ได้เปิดทำการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลจังหวัดแม่สอด และศาลจังหวัดตะกั่วป่า พ.ศ. 2481  ซึ่งให้ศาลแขวงแม่สอด และศาลแขวงตะกั่วป่าเปิดทำการเป็นศาลจังหวัดตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 หน้า 231) สถานที่ใช้ทำการคือที่ทำการศาลแขวงตะกั่วป่านั่นเอง (ปลูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459)  โดยมีเขตตลอดท้องที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง และอำเภอ เกาะคอเขาในจังหวัดพังงา ตามพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงแม่สะเรียง ศาลแขวงแม่สอด ศาลแขวงตะกั่วป่า และศาลแขวงหลังสวนขึ้นเป็นศาลจังหวัด พ.ศ. 2479      ซึ่งประกาศใช้แต่วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 หน้า 166)  พระราชบัญญัติฉบับนี้ มีข้อแม้ว่า ให้เปิดทำการเป็นศาลจังหวัดเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นศาลๆ ไป               เพราะกระทรวงมหาดไทยต้องเตรียมการให้พร้อม ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ในการตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอตะกั่วป่า เกิดขึ้นภายในระยะเวลาระหว่างราชการยุบศาลจังหวัดตะกั่วป่ารวมเข้ากับศาลจังหวัดพังงา และก่อนที่ทางราชการจะได้จัดตั้งศาลแขวงตะกั่วป่าขึ้นนั้น กระทรวงยุติธรรมเห็นควรให้มีศาลจังหวัดประจำที่อำเภอตะกั่วป่า โดยคำนึงถึงว่า อำเภอตะกั่วป่าเป็นท้องที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ระยะทางไปจังหวัดพังงาก็ไกล  ราษฎรไม่ต้องเสียเวลาในการประกอบอาชีพ เสียค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องค่าพาหนะเดินทางและค่าที่พักไปเป็นความที่ศาลจังหวัดพังงา ความไม่หมดเปลืองรายจ่ายของทางราชการในการที่เจ้าพนักงานเดินทางไปมาเป็นเนืองนิจระหว่างอำเภอตะกั่วป่ากับจังหวัดพังงาเกี่ยวกับการฝากขังผู้ต้องหาให้คดีอุกฉกรรจ์ จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษแล้วก็ต้องถูกควบคุมตัวไป คุมขังไว้ยังเรือนจำจังหวัดพังงา

สร้างเมื่อ  พ.ศ.2460  รื้อเมื่อ  20  ธันวาคม  2507

 

พ.ศ. 2508  ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ได้ทำพิธีเปิดอาคารที่ทำการศาลจังหวัดตะกั่วป่าหลังใหม่ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2508 โดย ฯพณฯ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในพิธี  โดยกระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณก่อสร้างใหม่ เนื่องจากตัวอาคารที่ทำการศาลจังหวัดตะกั่วป่าหลังเดิม มีเพียง 1 บัลลังก์ เป็นอาคารแบบเก่าล้าสมัย หันหน้าสู่ถนนวัฒนา แต่ลึกห่างถนนออกไป ไม่ได้ระดับกับที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า มีต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นบังตัวอาคาร มองจากสนามหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วจะไม่เห็นตัวอาคาร ถ้าไม่มีป้ายบอกว่าศาลจังหวัดตะกั่วป่า จะไม่มีผู้ใดรู้จัก จึงขาดความสง่าผ่าเผย ไม่สมศักดิ์ศรีของสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ประกอบกับตัวอาคารปลูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา ตัวอาคารจึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถทำการซ่อมแซมให้คงสภาพใช้การได้ดี จำเป็นต้องรื้อก่อสร้างขึ้นใหม่  โดยมีรูปแบบเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ขนาด 4 บัลลังก์ เท่าที่ประจักษ์เป็นอาคารด้านหน้าอยู่ ณ บัดนี้

ภาพอาคารศาล  สร้างเมื่อ 20 มกราคม 2507

พ.ศ. 2558  ศาลจังหวัดตะกั่วป่า มีอาคารที่ทำการเป็นอาคารคอนกรีต 2 อาคาร  โดยเมื่อปี พ.ศ. 2554  สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณให้ปรับปรุงอาคารศาลหลังเดิม (ด้านหน้า)  และต่อเติมโดยก่อสร้างอาคารศาลหลังใหม่ (ด้านหลัง) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ในวงเงิน 94,000,000 บาท ซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 และใช้เป็นที่ทำการศาลมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพถ่ายอาคารศาลปัจจุบัน ปรับปรุงต่อเติมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘

สภาพของอาคารศาลในปัจจุบัน

ศาลจังหวัดตะกั่วป่ามี ๒ อาคาร  อาคารด้านหน้าเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ขนาด 4 บัลลังก์ และอาคารด้านหลังเป็นอาคารคอนกรีต 4 ชั้น ขนาด ๔ บัลลังก์  ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท พอร์ทอล เฟรม (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้รับจ้างปรับปรุงต่อเติมอาคารศาลจังหวัดตะกั่วป่า พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ในวงเงิน  94,000,000 บาท (เก้าสิบสี่ล้านบาทถ้วน)  โดยปรับปรุงอาคารศาลด้านหน้าและต่อเติมเพิ่มอาคารด้านหลัง ทั้งนี้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘  และใช้เป็นที่ทำการศาลมาจนถึงปัจจุบัน  โดยแต่ละอาคารมีการเปิดใช้งานดังนี้

1. อาคารด้านหน้า (หลังเก่า 2 ชั้น)

          -  ชั้น 1 ประกอบด้วย ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพฯ ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท  ห้องควบคุมตัวคดีเยาวชน 

          -  ชั้น 2 ประกอบด้วย ศูนย์การถ่ายทอดระบบสัญญาณ streaming  โครงการเผยแพร่การบรรยายกฎหมายภาคค่ำของเนติบัณฑิตยสภา และห้องพิพิธภัณฑ์

2. อาคารด้านหลัง (หลังใหม่ 4 ชั้น)

          - ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องควบคุมผู้ต้องขัง  และห้องพิจารณาคดีเวรชี้ และที่จอดรถข้าราชการตุลาการและเจ้าหน้าที่

          - ชั้น ๒ ประกอบด้วย ห้องเก็บสำนวนคดี  ห้องธุรการ

          - ชั้น ๓ ประกอบด้วย ห้องพิจารณาคดี  ศูนย์หน้าบัลลังก์และศูนย์ติดตามพยาน

          - ชั้น ๔ ประกอบด้วย ห้องพักข้าราชการตุลาการ  ห้องสมุด  และห้องประชุม

ปัจจุบันศาลจังหวัดตะกั่วป่า ตั้งอยู่ถนนวัฒนา ตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ห่างจากกรุงเทพฯ 780 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพังงา ๖๘ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดภูเก็ต 135 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดระนอง 167 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี 161 กิโลเมตร มีพื้นที่เขตอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงตะกั่วป่าเป็นศาลจังหวัดตะกั่วป่า พ.ศ. 2479 ในเขตจังหวัดพังงา รวม  3  อำเภอ  ดังนี้

1.  อำเภอตะกั่วป่า

2.  อำเภอกะปง

3.  อำเภอคุระบุรี

                   ศาลจังหวัดตะกั่วป่ายังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่เขตอำนาจของศาลจังหวัดตะกั่วป่า  ทั้งนี้ตามคำสั่งประธานศาลฎีกา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 21 และคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35  โดประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่350/2552 ลงวันที่  13  มีนาคม  2552 ให้ข้าราชการตุลาการศาลจังหวัดตะกั่วป่าช่วยทำงานชั่วคราวอีกตำแหน่งหนึ่งในศาลจังหวัดพังงาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดตะกั่วป่า            ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นมา  โดยใช้ชื่อว่า “ศาลจังหวัดพังงาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว(ตะกั่วป่า) จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับศาลต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงา (ตะกั่วป่า)” ประชาชนในท้องที่อำเภอตะกั่วป่า  อำเภอกะปง  และอำเภอ คุระบุรี  ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดตะกั่วป่า  จึงได้รับความสะดวกเป็นอย่างมากในด้านการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  คดีอาญา  และคดีเยาวชนและครอบครัว

                 การดำเนินงานของศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้ดำเนินงานตามนโยบายประธานศาลฎีกา  นโยบายเลขาธิการศาลยุติธรรม  และนโยบายอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 โดยนำแผนยุทธศาสตร์ ศาลยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบ ทิศทาง การบริหารงาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการทำงานภายใต้บทบาทหน้าที่ของศาลยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรม ด้วยความถูกต้องรวดเร็วเป็นธรรม และทั่วถึงมุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การพัฒนาบุคลากร และระบบการบริหารจัดการ การส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาระบบการพิจารณาพิพากษาคดี  อีกทั้งให้ความสำคัญและตระหนักถึงหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน ส่งเสริมให้ข้าราชการมีคุณธรรมจริยธรรม ปราศจากทุจริตคอรัปชั่นด้วยการสร้างกระบวนการการป้องกันการทุจริตการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม

                    และในปัจจุบันศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาเพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายประธานศาลฎีกาแล้วด้วย